คำกล่าวของการอภิปรายหน้าพระที่นั่ง วันเทียนส่องใจ 1 ธันวาคม 2552
โดย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข
วันที่ 1 ธันวาคม 2552
ณ สภากาชาดไทย
***********************************
ขอประทานกราบทูลทราบฝ่าพระบาท เกล้ากระหม่อมนายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ขอประทานพระอนุญาตรายงานมาตรการมาตรการของภาครัฐในการดำเนินการด้านเอดส์ ดังนี้
รัฐบาลไทยมีความมุ่งมั่นและความจริงจังในการดำเนินนโยบายต่อการดำเนินการด้านเอดส์มาอย่างต่อเนื่องโดยประเทศไทยนับเป็นประเทศแรก ๆของโลกที่ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการระดับชาติ ซึ่งมีผู้นำฝ่ายบริหารระดับสูงสุดเป็นประธาน ( นายกรัฐมนตรี ) เพื่อทำหน้าที่กำหนดแนวนโยบายการป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์ขึ้น โดยมีองค์ประกอบจากส่วนราชการ องค์กรเอกชนสาธารณประโยชน์ นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ และผู้แทนเครือข่าย ผู้ติดเชื้อเอช ไอ วีและผู้ป่วยเอดส์ ร่วมกันดูแลงานในระดับนโยบายและรูปแบบการบริหาร ในลักษณะของคณะกรรมการระดับชาติโดยได้มีการดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2534 โดยรัฐบาลนี้ท่านนายกรัฐมนตรีนายอภิสิทธิ์ เวชาชีวะ ได้กรุณารับเป็นประธานคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการป้องกันแก้ไขปัญหาเอดส์ด้วยตนเอง รวมทั้งรับเป็น พรีเซ็นเตอร์ (Presenter) ในการรณรงค์เอดส์ปีนี้ด้วย
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์และแบบแผนการระบาดของเชื้อเอชไอวีในแต่ละกลุ่มประชากรมิได้มีรูปแบบเช่นเดิม จากการเฝ้าระวังของกระทรวงสาธารณสุขพบสัญญาณเตือนของการกลับมาระบาดใหม่ของเชื้อเอชไอวีในประเทศไทย ได้แก่ ความชุกของการติดเชื้อเอชไอวีที่เพิ่มขึ้นในกลุ่มชายมีเพศสัมพันธ์กับชายเพิ่มขึ้น กลุ่มหญิงตั้งครรภ์ กลุ่มผู้ให้บริการทางเพศแอบแฝง กลุ่มทหารเกณฑ์ มีการระบาดของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในกลุ่มเยาวชน กลุ่มผู้ใช้ยาชนิดฉีดมีความชุกของการติดเชื้อเอชไอวีในระดับสูง รวมถึงการปรับเปลี่ยนของแบบแผนพฤติกรรมเสี่ยงเกิดขึ้นตลอดช่วงเวลา 2 ทศวรรษ ที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อเอชไอวี อันเป็นผลจากวิถีชีวิตและวัฒนธรรมที่ผันแปรไป ทำให้ต้องมีกระบวนการนโยบาย และ การจัดบริการทางสังคมให้ทันการณ์และสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป การดำเนินการต่าง ๆ เป็นไปตามแนวทางของแผนยุทธศาสตร์ บูรณาการเอดส์ ปี 2554-2559 และแผน UA (Universal access) ที่เป็นแผนระดับนานาชาติและเป็นแผนที่มีเป้าประสงค์เพื่อความครอบคลุม ทั่วถึง ทั้งในด้านการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี สำหรับประเทศไทยขณะนี้อยู่ในช่วงวาระการดำเนินงานภายใต้แผนยุทธศาสตร์บูรณาการการป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์แห่งชาติ พ.ศ. 2550 - 2554 โดยมีเป้าประสงค์เพื่อ
- ลดการติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ลดลงอย่างน้อยครึ่งหนึ่งจากที่เคยคาดประมาณไว้
- ผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ที่ต้องได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัสเอดส์สามารถเข้าถึงบริการรักษาด้วยยาต้านไวรัสเอดส์อย่างครอบคลุมทั่วถึง
- ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยเอดส์ ครอบครัวและผู้ได้รับผลกระทบจากเอดส์ที่จำเป็นต้องได้รับการดูแลทางสังคม สามารถเข้าถึงบริการทางสังคมได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 80
ผมขออนุญาตรายงานความก้าวหน้าสำคัญ ๆ ตามยุทธศาสตร์ซึ่งมีอยู่ 4 ยุทธศาสตร์ ดังนี้
ยุทธศาสตร์ ที่ 1 การบริหารจัดการเพื่อบูรณาการงานเอดส์สู่ภาคส่วนต่าง ๆ ได้มีความก้าวหน้าสำคัญ ๆ อาทิ ในด้านการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดศูนย์ประสานงานประชาคมเอดส์ในระดับจังหวัด(Provincial Coordinating Mechanism = PCM)นำร่องจำนวน 43 จังหวัด และจะขยายจนครบทั่วประเทศ โดยศูนย์นี้จะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการดำเนินงานตอบสนองต่อปัญหาเอดส์ในระดับจังหวัดและท้องถิ่นให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น ตามทิศทางการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น
ยุทธศาสตร์ที่ 2 การบูรณาการการป้องกัน ดูแลรักษา และลดผลกระทบตามกลุ่มประชากรเป้าหมาย ได้มีความก้าวหน้าสำคัญ ๆ อาทิ การพัฒนานโยบายและบริการเพื่อให้คนไทยเข้าถึงการรักษาด้วยยาต้านไวรัส โดยในปัจจุบันนี้ มีผู้รับยาต้านไวรัสจากบริการทุกระบบ(ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ, ระบบประกันสังคมและระบบรักษาพยาบาลข้าราชการ) ประมาณ 200,000 คน ในขณะเดียวกัน ก็มีการดำเนินนโยบายเพื่อให้ชุมชนในท้องถิ่นได้ร่วมกันดูแลผู้ได้รับผลกระทบจากปัญหาเอดส์ให้อยู่ร่วมในสังคมอย่างสงบสุข
การพัฒนานโยบายและบริการเพื่อให้คนที่ไม่มีสัญชาติไทย คนต่างด้าวที่เข้ามาทำงานและอาศัยอยู่ในเมืองไทย และบุคคลซึ่งไม่มีสถานะพลเมืองได้ ที่มีความต้องการรับบริการรักษาด้วยยาต้านไวรัส ไทยเป็นประเทศแรกในโลกที่มีนโยบายในด้านนี้ เป็นผลให้บุคคลเหล่านี้เข้าถึงบริการประมาณ 2,000 คน
ด้านการป้องกันก็ได้ให้ความสำคัญในการพัฒนานโยบายและการดำเนินงานเพิ่มมากขึ้น นโยบายสำคัญด้านนี้คือ การลดอัตราการรับ-ถ่ายทอดเชื้อรายใหม่ในกลุ่มประชากรต่างๆ ให้ได้ครึ่งหนึ่งภายในสิ้นแผนฯ ฉบับนี้กล่าวคือลดจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ในปี 2554 ให้ไม่เกิน 5,016 ราย จากการคาดการณ์ผู้ป่วยรายใหม่ในปี 2552 มีผู้ติดเชื้อใหม่ 11,753 ราย โดยอาศัยการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน โดยภาครัฐมีการเตรียมให้กระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงมหาดไทยโดยกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นนำเรื่องทักษะชีวิตและเพศศึกษาไปบรรจุไว้ในการเรียนการสอน กระทรวงสาธารณสุขดำเนินการเรื่องการส่งเสริมการใช้ถุงยางอนามัยในกลุ่มเสี่ยง ซึ่งจากการติดตามความก้าวหน้า แม้จะพบว่า ยังมีความท้าทายอีกหลายเรื่องที่จะเดินไปให้ถึงเป้าหมายที่วางไว้ แต่การที่ภาคประชาสังคมเองให้ความสำคัญกับเรื่อง การส่งเสริมการเรียนรู้ การสร้างความเข้าใจเรื่องสิทธิทางเพศ และจัดให้มีกระบวนการรณรงค์ทางสังคมในวงกว้าง ก็นับเป็นการสนับสนุนการทำงานด้านการป้องกันที่สำคัญอีกส่วนหนึ่งด้วยเช่นกัน
ยุทธศาสตร์ที่ 3 การคุ้มครองสิทธิด้านเอดส์
การกำหนดแผนฯ ฉบับปัจจุบัน มียุทธศาสตร์ที่ว่าด้วยเรื่องการคุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ ได้แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยได้ให้ความสำคัญกับเรื่องสิทธิมนุษยชน เพื่อเป็นหลักประกันให้คนทุกคน ได้เข้าถึงบริการป้องกัน ดูแล รักษา อย่างครอบคลุมและมีคุณภาพ และการสนับสนุนการลดผลกระทบ การคุ้มครองสิทธิ เพื่อให้ทุกคนได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกับบุคคลอื่นในสังคม ซึ่งมีความก้าวหน้าสำคัญ ๆ อาทิ มีการพัฒนาองค์ความรู้เรื่องสิทธิ ปรับปรุงกฎหมาย พัฒนาเครือข่าย และกลไกการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ทั้งในภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม
ยุทธศาสตร์ที่ 4 การติดตาม ประเมินผล ศึกษาวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้เพื่อการป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์
นอกจากนี้ความก้าวหน้าสำคัญ ๆ อาทิ มีการพยายามพัฒนาระบบการติดตาม การประเมินผล ให้เชื่อมโยงเป็นระบบเดียวกัน ตั้งแต่ระดับชาติไปจนถึงระดับจังหวัด ขณะเดียวกัน ก็มีการสนับสนุนให้มีการพัฒนางานวิจัยด้านเอดส์ เพื่อพัฒนาเป็น องค์ความรู้ที่ชัดเจน เหมาะสม ตอบสนองต่อการแก้ปัญหาเอดส์ในประเทศต่อไป
ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด