โครงการสหประชาชาติด้านเอดส์ ได้รณรงค์ “การเข้าถึง (บริการสุขภาพ) เป็นสิทธิมนุษยชนที่ทุกคนต้องได้รับ หรือ “Universal Access and Human Rights” ภายใต้หลักการนี้ ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือบัตรทองได้กำหนดให้บริการด้านการป้องกันและดูแลรักษาด้านเอชไอวีเอดส์ครอบคลุมในชุดสิทธิประโยชน์ รวมทั้งการรับบริการการปรึกษาและตรวจเลือดโดยสมัครใจเพื่อหาการติดเชื้อเอชไอวีด้วย
ปัจจุบันมีคนจำนวนมากที่เข้าไม่ถึงหรือไม่ได้รับบริการการปรึกษาและตรวจเลือดโดยสมัครใจ เนื่องมาจากทัศนคติสังคมที่ยังตีตราและเลือกปฏิบัติกับผู้มาขอรับบริการในเรื่องเอดส์ด้วย เพศ อายุ หรือเชื้อชาติ เช่นกรณีของเยาวชนที่ไม่กล้ามาขอรับบริการตรวจเลือดเพราะถูกสังคมกำหนดว่า “เยาวชนยังไม่ควรมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร” หรือเมื่อตัดสินใจขอรับบริการตรวจเลือดโดยสมัครใจ กลับต้องติดเงื่อนไขระเบียบข้อบังคับของแพทยสภาที่กำหนดให้เยาวชนต้องได้รับความยินยอมจากผู้ปกครองเสียก่อน ทำให้เยาวชนตัดสินใจไม่ไปรับบริการตรวจเลือดและสูญเสียโอกาสที่จะได้รับบริการให้คำปรึกษาและการเข้าถึงบริการด้านการป้องกันและดูแลรักษาด้านเอชไอวี
คณะกรรมการองค์กรพัฒนาเอกชนด้านเอดส์ (กพอ.) ร่วมกับเครือข่ายคนทำงานด้านเอดส์ในประเทศไทย 16 เครือข่ายและองค์กรภาคี จึงรณรงค์ให้เด็กและเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี สามารถตัดสินใจตรวจเลือดได้ด้วยตนเอง ตามหลักการเคารพสิทธิทางเพศ สิทธิด้านเอดส์ และสิทธิมนุษยชนของคนทุกเพศ ทุกวัย ที่มีสิทธิตัดสินใจด้วยตัวเองว่า จะเลือกดำเนินชีวิตทางเพศได้อย่างอิสระและปลอดภัยจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เอชไอวี/เอดส์ ท้องไม่พร้อม และความรุนแรงทางเพศ โดยไม่ถูกกีดกัน ไม่ถูกตีตราและเลือกปฏิบัติเมื่อไปขอรับบริการด้านสุขภาพ
สิทธิประโยชน์ในการรับบริการภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ปัจจุบันระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทอง ได้ครอบคลุมสิทธิในการเข้ารับบริการปรึกษาและตรวจเลือดเพื่อหาการติดเชื้อเอชไอวี ซึ่งเป็นบริการครอบคลุมคนไทยทุกคนที่มีบัตรประชาชน ไม่ว่าคุณจะใช้สิทธิการรักษาพยาบาลจากระบบใด (ประกันสังคม ประกันเอกชน รัฐวิสาหกิจ หรือข้าราชการ) ทุกคนสามารถมาขอรับบริการนี้ได้ในโรงพยาบาลที่อยู่ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งในชุดสิทธิประโยชน์ระบุว่า สามารถตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีโดยสมัครใจ หรือวีซีซีที (VCCT) ได้ฟรีปีละ 2 ครั้ง หากผลเลือดเป็นบวกก็จะได้รับบริการปรึกษาเพื่อการดูแลสุขภาพโดยกลับไปรับบริการตามสิทธิรักษาพยาบาลของแต่ละคน และหากพบว่าผลเลือดเป็นลบก็จะได้รับบริการให้คำปรึกษาเพื่อส่งเสริมการป้องกันให้ผลเลือดเป็นลบตลอดไป โดยทุกคนมีสิทธิขอรับถุงยางอนามัยเพื่อการป้องกันได้ทุกคน |