เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย และคณะกรรมการองค์กรพัฒนาเอกชนด้านเอดส์
ขอเชิญร่วมแถลงข่าว “สนับสนุนร่าง พรบ. คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข”

“เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวีฯและเครือข่ายองค์กรด้านเอดส์ 
เรียกร้องให้หมอชุดดำ หยุดขู่ประชาชน และหยุดใช้ประชาชนเป็นตัวประกัน”

                
จากที่มีการเสนอร่าง พรบ. คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ. .... เข้าสู่วาระการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรสมัยสามัญนิติบัญญัติถึง 7 ร่าง ซึ่งเมื่อดูจากเจตนารมณ์และหลักการสำคัญของร่างพรบ.ฉบับดังกล่าวทั้ง 7 ฉบับ เน้นหลักการ 3 เรื่องเหมือนกันคือ การช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบและผู้ได้รับความเสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข การพัฒนาระบบป้องกันความเสียหาย และลดการฟ้องร้อง เพื่อสนับสนุนผู้ให้บริการทำงานอย่างมีความสุขไม่ต้องกังวลเรื่องการฟ้องร้อง จะเห็นว่าหลักการของร่าง พรบ.ดังกล่าว เป็นกฎหมายที่ตั้งอยู่บนฐานของการส่งเสริมสิทธิมนุษยชน โดยการให้สิทธิในการได้รับการเยียวยาจากรัฐ หากประสบความเสียหายจากการมารับบริการสาธารณสุข โดยที่ผู้ป่วย หรือผู้ประสบความเสียหาย และญาติ ไม่จำเป็นต้องไปดำเนินการฟ้องร้องเพื่อเรียกร้องความรับผิดชอบจากสถานบริการนั้นๆหรือ แพทย์  ซึ่งสอดคล้อง และได้รับการสนับสนุนทั้งจากนักวิชาการอิสระ นักวิชาการด้านการแพทย์ สถาบันการศึกษา และสถาบันที่เป็นแนวหน้าในการพัฒนาระบบสาธารณสุข รวมถึงการสำรวจความเห็นของประชาชนที่ได้รับรู้ข้อมูล ข่าวสาร จากช่องทางต่างๆ เช่น การสำรวจของมหาวิทยาลัยหาดใหญ่ หรือ “หาดใหญ่โพล” ที่พบว่า 82.5% ของประชาชนเห็นด้วยให้มี พรบ.ดังกล่าว และ 32.4% เห็นว่าแพทย์จะได้รับประโยชน์จาก พรบ. ฉบับนี้ ดังนั้นการออกมาเคลื่อนไหวของกลุ่มแพทย์ในขณะนี้ เป็นการเคลื่อนไหวเพื่อผลประโยชน์ของใคร โดยเจตนาเพื่อปกป้องสิทธิของแพทย์ หรือเพื่อผลประโยชน์ในแพทยสภา

เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย คณะกรรมการองค์การพัฒนาเอกชนด้านเอดส์ เครือข่ายพนักงานบริการ และเครือข่ายความหลากหลายทางเพศเห็นว่า การออกมาเคลื่อนไหวของกลุ่มแพทย์กลุ่มหนึ่งคัดค้านต่อร่างพรบ. เป็นการนำไปสู่ความสับสน และเกิดความไม่มั่นใจในการให้บริการของแพทย์ เช่นการขู่ว่าหาก พรบ. นี้ออกมาจะทำให้แพทย์ในโรงพยาบาลชุมชนไม่รับรักษาผู้ป่วย เป็นการสร้างกระแสที่มีเจตนาในการใช้อำนาจของการเป็นวิชาชีพมาต่อรอง เท่ากับเป็นการ “จับผู้ป่วยเป็นตัวประกัน” โดยกลุ่มแพทย์ดังกล่าวมีเหตุกล่าวอ้างที่ไม่มีความชัดเจนและบิดเบือนในหลายเรื่อง เช่น การอ้างว่าการออกมาสนับสนุนร่าง พรบ.ฉบับนี้ ของกลุ่มเอ็นจีโอ หรือภาคประชาชน เป็นการพยายามตั้งหน่วยงานเพื่อรองรับงบประมาณให้กับตัวเอง โดยอ้างตัวอย่างคณะอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งในข้อเท็จจริงการเข้าไปเป็นคณะอนุกรรมการฯ ไม่ว่าในชุดใดของภาคประชาชน เป็นการเข้าไปทำงานผลักดันบนฐานประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง และอยู่ในสัดส่วนที่ไม่ได้มากเกินภาคส่วนอื่นๆ หากจะคิดสัดส่วนจริงๆกลับพบว่าผู้แทนในวิชาชีพทางการแพทย์กลับมีที่นั่งในคณะทำงาน คณะกรรมการ ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพฯมากกว่าส่วนอื่นทั้งสิ้น

การโจมตีโดยอ้างเรื่องผลประโยชน์ของกลุ่มแพทย์ดังกล่าว เป็นการแสดงให้เห็นเจตนาที่ชัดเจนว่า ต้องการล้มร่างกฏหมายฉบับนี้ ไม่มีความจริงใจที่ต้องการให้เจตนารมณ์และหลักการของกฏหมายดังกล่าวได้เกิดขึ้นจริงในสังคมไทย ซึ่งต้องทวงถามแพทย์กลุ่มดังกล่าวว่า ณ ขณะนี้กำลังเคลื่อนไหวเพื่อใคร

เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ประเทศไทย ซึ่งให้บริการร่วมดูแลเพื่อนผู้ติดเชื้อฯทั่วประเทศกว่า 50,000 ราย โดยทำงานร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับโรงพยาบาลชุมชน เรารู้ดีว่าแพทย์และผู้ให้บริการทำงานหนักและเสียสละเพียงใด และยืนยันได้ว่า เราไม่เคยคิดว่าจะฟ้องร้องแพทย์หรือผู้ให้บริการ และเข้าใจดีว่าความผิดพลาดไม่ว่าจากกรณีสาเหตุใด มีโอกาสเกิดขึ้นได้ในการมารับบริการ ดังนั้นการสร้างความเข้าใจระหว่างแพทย์และผู้ป่วย ที่อยู่บนฐานความสัมพันธ์ที่ดี มีการสื่อสารสร้างความเข้าใจกรณีเกิดปัญหา และได้รับการเยียวยาเบื้องต้นโดยไม่ต้องชี้ถูกผิด เป็นแนวทางที่จะทำให้เกิดความเข้าใจระหว่างกันและทำให้ผู้ได้รับความเสียหายได้รับการดูแล และในขณะเดียวกันทำให้แพทย์ไม่ต้องกังวลต่อค่าชดเชยต่างๆ ดังนั้น เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ประเทศไทย คณะกรรมการองค์การพัฒนาเอกชนด้านเอดส์ เครือข่ายพนักงานบริการ และเครือข่ายความหลากหลายทางเพศจึงมีข้อเรียกร้องดังนี้

  1. ให้รัฐบาลทำตามการประกาศของนายกรัฐมนตรีที่ให้ไว้กับตัวแทนเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ และองค์กรพัฒนาเอกชนด้านเอดส์ เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2553 ว่าจะไม่มีการถอนร่าง พรบ. และให้ดำเนินการพิจารณาการออกพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้เสียหายจากบริการสาธารณสุข ตามวาระของการพิจารณากฏหมายในสมัยประชุมนิติบัญญัติ และต้องไม่ดำเนินการใดๆที่นำไปสู่การชะลอการพิจารณาร่าง พรบ. ฉบับดังกล่าว
  2. ให้กระทรวงสาธารณสุข ในฐานะผู้ดูแลระบบสาธารณสุขของประเทศ แสดงจุดยืนต่อร่าง พรบ. ฉบับดังกล่าว พร้อมทั้งดำเนินการสร้างความเข้าใจต่อบุคลากรภายใต้สังกัดอย่างเร่งด่วน
  3. ให้กลุ่มแพทย์ที่ออกมาเคลื่อนไหวคัดค้าน หากมีความจริงใจและเห็นด้วยต่อหลักการของ พรบ.ฉบับดังกล่าว ต้องหยุดให้ร้าย หยุดสร้างความสับสน แตกแยก หยุดจับผู้ป่วยเป็นตัวประกันโดยทันที
  4. เพื่อแสดงให้สังคมเห็นความจริงใจของทั้งสองฝ่าย จึงเรียกร้องให้กลุ่มแพทย์ที่ออกมาเคลื่อนไหวต้องไม่สมัครเป็นกรรมการในแพทยสภาและกรรมการในชุดต่างๆภายใต้พรบ.ฉบับดังกล่าว และเรียกร้องให้แกนนำภาคประชาชนที่ออกมาเคลื่อนไหวสนับสนุน พรบ.นี้ ยืนยันที่จะไม่รับเป็นกรรมการ หรือมีตำแหน่งใดๆภายใต้ พรบ. ฉบับนี้เช่นกัน

ด้วยความสมานฉันท์

เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี / เอดส์ ประเทศไทย
คณะกรรมการองค์กรพัฒนาเอกชนด้านเอดส์ (กพอ.)
เครือข่ายพนักงานบริการ
เครือข่ายความหลากหลายทางเพศ

Go to top